[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by Maxsite 0.99
โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม
www.takien.ac.th
   
  

  

ข้อมูลอื่นๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับประแส

จันทร์ ที่ 8 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554


"ประแส" ในสมัยกรุงเก่า มีฐานะเป็นเมือง เรียกว่า "เมืองประแส"
คำว่า "ประแส" เป็นคำที่ใช้เรียกกันมาตั้งแต่โบราณกาล แม้ชื่อตำบลซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังตามกฏหมาย
ลักษณะปกครองท้องที่ก็ใช้ว่า "ตำบลปากน้ำประแส" บรรดาศักดิ์กำนันก็ใช้ว่า
"ขุนมุขประแสชล" ฯลฯ แต่ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่า "ประแส" มีความหมายว่าอย่างไร
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมิได้เก็บคำนี้ไว้ เมื่อไม่สามารถหาความหมายของคำดังกล่าวได้
ทางราชการจึงเปลี่ยนชื่อจาก "ประแส" เป็น "กระแส" ซึ่งหมายถึง "กระแสน้ำ" (เมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2489 - 2493) และเปลี่ยนชื่อตำบลว่า "ตำบลปากน้ำกระแส" แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า "ประแส"

ตามที่เรียกกันมาแต่ดั้งเดิม แม้สถานที่ราชการบางแห่งของตำบลนี้ยังใช้คำเดิมอยู่ก็มี
เช่น สถานีตำรวจภูธรตำบลปากน้ำประแสร์ , การประปาปากน้ำประแสร์

การวิเคราะห์คำว่า "ประแส" นั้น พระครูประภัทรวิริยคุณ (มาลัย) เจ้าคณะอำเภอแกลง

เจ้าอาวาส "วัดตะเคียนงาม" ได้ศึกษาในเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า
คำว่า "ประแส" นั้นน่าจะเป็นภาษาชอง ซึ่งเป็นภาษาของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของภูมิภาคนี้
( สุนทรภู่เคยกล่าวถึงหนุ่มสาวชาวบ้านพลงฆ้อหรือเนินฆ้อไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า ..ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง แสดงว่าชาวบ้านพื้นเมืองแถบนี้มีเชื้อสายเป็นชาวชอง )
และเพื่อความกระจ่างชัด พระครูประภัทรวิริยคุณ และ นายระวี ปัญญายิ่ง
ได้เดินทางไปสอบถามผู้มีเชื้อสายชองในเขตตำบลพลวง , ตะเคียนทอง , คลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี
จากการสอบถามได้ความตรงกันว่าในภาษาชอง มีคำว่า "แซร์" หมายถึง ทุ่งนา "พรีแซร์ หรือ ปรีแซร์" หมายถึง ทุ่งนา คือป่าที่ถางแล้วและใช้ปลูกข้าว ถ้าเป็นที่ดอนก็ทำไร่ปลูกข้าว ถ้าเป็นที่ลุ่มก็ทำนาปลูกข้าว

หากคำว่า "ประแส" มีรากฐานมาจากภาษา "ชอง" ดังกล่าวจะต้องเขียนตามศัพท์เดิมว่า "ประแสร์" มี ร การันต์ จึงจะมีความหมายว่า "ทุ่งนา" หรือ "ป่าทุ่งนา" หมู่บ้านประแสร์ ในเขตอำเภอแกลง มี 2 แห่ง คือ "ประแสร์ ( บน )" อยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแกลงประมาณ 12 กม. ( ทางตรง ) ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านประแส (บน) เป็นที่นา รอบๆทุ่งนาเป็นแนวป่า มีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้านนี้ เรียกว่า "แม่น้ำประแสร์" ไหลออกสู่ทะเล ณ ที่ใด ก็เรียกที่นั้นว่า "ปากแม่น้ำประแสร์" และกร่อนไปเป็น "ปากน้ำประแสร์" ในที่สุดจึงสรุปว่า "ประแสร์" น่าจะมีรากฐานมาจากภาษาชอง คือเพี้ยนมาจากคำว่า "พรีแซร์" หรือ "ปรีแซร์" ที่แปลว่า "ทุ่งนา" ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของพระครูประภัทรวิริยคุณที่ได้ข้อมูลมาจาก การศึกษาข้อมูลเก่า ,

การค้นคว้าจากหนังสือเรื่อง "อารยธรรมของจันทบุรี" ที่กล่าวถึงภาษาชอง และสอบถามจากบุคคลหลายที่
อนึ่ง มีผู้สันนิษฐานด้วยว่า คำว่า "ประแส" น่าจะมาจากความหมายที่ว่า "กระแสน้ำจืด"
ที่ไหลมาจากต้นน้ำมา "ประ" (ปะทะ) กับน้ำทะเล (เค็ม) ตรงปากน้ำ จึงเรียกว่า "ปากน้ำประแส"


เข้าชม : 3505


ข้อมูลอื่นๆ 5 อันดับล่าสุด

      ข้อมูลทั่วไปของอาเซียน 16 / ส.ค. / 2554
      ข้อมูลวัดตะเคียนงาม 8 / ส.ค. / 2554
      ข้อมูลเกี่ยวกับประแส 8 / ส.ค. / 2554
      ข้อมูลสภาพชุมชน 8 / ส.ค. / 2554
      ทำเนียบผู้บริหาร 8 / ส.ค. / 2554


 

 

 

โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม 223 ม.2 ต.ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง 21170
โทรศัพท์/โทรสาร 0 - 3866 - 1918
Webmaster : ครูคมสัน คงเอี่ยม , ครูโอปอ ยังเหลือ
E-Mail : admin@takien.ac.th