[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by Maxsite 0.99
โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม
www.takien.ac.th
   
  

  

ข้อมูลอื่นๆ
ข้อมูลวัดตะเคียนงาม

จันทร์ ที่ 8 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554


ที่ตั้ง

ชุมชนตลาดตอนกลาง หมู่ที่ 8 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อเป็นทางการ คือ "วัดตะเคียนงาม" แต่ชาวบ้านในตำบลปากน้ำกระแสและทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดตะเคียน" สังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองและคณะสงฆ์ ตำบลปากน้ำกระแส-คลองปูน เขต 1 อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาค 13 ตามหลักฐานที่เจ้าอาวาสรุ่นก่อน ๆ บันทึกไว้วัดตะเคียนงาม สร้างก่อนปี พ.ศ.2409 มีอาณาเขตที่ดินรวมทั้งสิ้น 17 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา และมีที่ธรณีสงฆ์อีก 1 แปลง จำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ซึ่งอยู่กับโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม เนื้อที่ของวัดตะเคียนงามเดิมมี 9 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา ไม่ทราบนามผู้ถวาย อีกส่วนหนึ่งมีผู้ใจบุญ 2 ท่าน คือ นายกราย (หลวงพ่อกราย) - นางแฉ่ วิสมล จัดทำเป็นพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่วัดหลังจากบุคคลทั้ง 2 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว จำนวน 32 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ซึ่งวัดตะเคียนงามมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดกับ ทางสาธารณะและโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม
ทิศตะวันออก ติดกับ ทางสาธารณะห่างออกไปเป็นทุ่งนา - บ่อกุ้ง
ทิศตะวันตก ติดกับ ทางสาธารณะและเป็นหมู่บ้านชุมชนปากน้ำประแส
ทิศใต้ ติดกับ ที่ดินนางทองหลอม รอบรู้ชัยกุล


ต้นตะเคียนใหญ่ 2 ต้น ซึ่งมีอายุ 400 กว่าปี เป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัดตะเคียนงาม เพราะในสมัยก่อนชาวประมงจะใช้ต้นตะเคียนใหญ่ 2 ต้น เป็นเครื่องหมายเมื่อนำเรือออกไปหากินกลางทะเล เวลาที่จะกลับเข้าฝั่งต้องหมายตาที่ต้นตะเคียนใหญ่ 2 ต้นไว้เสมอเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการนำเรือเข้าฝั่ง นอกจากนี้ยังมีต้นตะเคียนขนาดรองลงมาอีกหลายร้อยต้นและไม้อื่น ๆ อีกหลายชนิดภายในวัดตะเคียนงามแห่งนี้

 

ประวัติความเป็นมา

สมัยก่อนชาวตำบลปากน้ำกระแส ต้องเดินทางโดยทางเรือไปบำเพ็ญกุศลที่วัดประชุมคงคาซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "วัดแหลมเมือง" นับว่าเป็นหนทางที่ยากลำบากมากในการเดินทางไปบำเพ็ญกุศล จึงได้มีผู้ชักชวนกันบริจาคที่ดินประมาณ 9 ไร่เศษ โดยมีนายจันทร์ เหมมิญช์ เป็นหัวหน้ากลุ่มจัดหาผู้บริจาคที่ดินจากนั้นได้เริ่มสร้างศาลาการเปรียญพร้อมกุฏิสงฆ์ และให้ชื่อว่า "วัดตะเคียนงาม" โดยถือสัญลักษณ์ตะเคียนใหญ่ 2 ต้น มาตั้งเป็นชื่อวัด และชาวปากน้ำกระแสก็ได้มีประเพณีทำบุญทอดผ้าป่ากลางน้ำ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างวัด ในปี 2409 (ร.ศ.85) เป็นต้นมา วัดตะเคียนงามก็ได้มีพระภิกษุเจ้าอาวาสสืบเนื่องต่อกันมาทั้งสิ้นจำนวน 7 รูปด้วยกัน อันได้แก่ หลวงพ่อนาค , หลวงพ่อเกลื่อน , หลวงพ่อกราย วิสมล , หลวงพ่อปาน (พ.ศ.2448-2454) , พระครูเฮ้า "ไกรแก้ว" (พ.ศ.2455-2482) ,พระครูโฆสิตวิริยคุณ "หลวงพ่อแหวน วงศ์ทิม" (พ.ศ.25482-2520) พระครูประภัทรวิริยะคุณ "มาลัย งามเสงี่ยม" (พ.ศ.2520-2546) และพระปลัด ภทฺ ทวโร "สมพร พานิชอัตรา" (พ.ศ.2546-ปัจจุบัน)
ซึ่งวัดตะเคียนงาม จัดได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญมีส่วนในการสร้างสรรค์พัฒนาท้องถิ่นภายใน ตำบลปากน้ำกระแสเป็นอย่างยิ่ง อันจะเห็นได้จากพระครูเฮ้า ธมมสโร "ไกรแก้ว" เป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียนภายในชุมชน โดยได้ทำการชักชวนพระภิกษุ-สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ไปนำไม้ที่วังพะเนียง ราว ๆ พ.ศ.2478-2479 เมื่อเห็นว่าการทำไม้เพียงพอแก่การสร้างอาคารเรียนแล้ว จึงสร้างเป็นโรงเรียนประชาบาลขึ้นในที่ดินของวัดซึ่งนางฉิม การุญ เป็นผู้ถวายมีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา เพื่อเป็นการให้ความรู้ การศึกษาแก่กุลบุตร กุลธิดา ภายในหมู่บ้าน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ท่านได้มรณภาพเสียก่อนที่โรงเรียนจะแล้ว เสร็จด้วยโรคไตพิการ อาคารเรียนที่หลวงพ่อเฮ้า เริ่มสร้างขึ้นจึงมีเพียงโครงหลังคามุงกระเบื้องเท่านั้น
ต่อมาในสมัยของพระครูโฆสิตวิริยคุณขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงได้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมจนแล้วเสร็จ ทางราชการได้ให้ชื่อว่า "โรงเรียนวัดตะเคียนงาม (ไกรแก้วราษฎร์รังสรรค์)" ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม" นอกจากนี้วัดตะเคียนงามยังมีงานด้านการสงเคราะห์สาธารณกุศลอื่น ๆ อีกมากมายที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงนับได้ว่าวัดตะเคียนงาม และเจ้าอาวาสของวัดโดยเฉพาะ หลวงพ่อแหวนและพระครูโฆสิต วิริยคุณ มีส่วนสำคัญต่อการศึกษา พัฒนาท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง


เข้าชม : 5420


ข้อมูลอื่นๆ 5 อันดับล่าสุด

      ข้อมูลทั่วไปของอาเซียน 16 / ส.ค. / 2554
      ข้อมูลวัดตะเคียนงาม 8 / ส.ค. / 2554
      ข้อมูลเกี่ยวกับประแส 8 / ส.ค. / 2554
      ข้อมูลสภาพชุมชน 8 / ส.ค. / 2554
      ทำเนียบผู้บริหาร 8 / ส.ค. / 2554


 

 

 

โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม 223 ม.2 ต.ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง 21170
โทรศัพท์/โทรสาร 0 - 3866 - 1918
Webmaster : ครูคมสัน คงเอี่ยม , ครูโอปอ ยังเหลือ
E-Mail : admin@takien.ac.th